แบบการเรียนรู้ (Learning Styles)
โลกยุคนี้เป็นยุคของความรู้และข้อมูลข่าวสาร
ผู้ใดมีความรู้และข้อมูลมากกว่าย่อมได้เปรียบกว่า
ทั้งนี้เนื่องจากข้อมูลที่เป็นความรู้เพิ่มมากขึ้นทุกวัน และทุก ๆ 5
ปีข้อมูลข่าวสารจะทวีขึ้นเป็น 2 เท่า
นอกจากนี้ยังไม่มีใครสามารถสอนความรู้ที่มีอยู่ในโลกนี้ให้แก่เราได้ทั้งหมด โรงเรียนจึงควรเตรียมเด็ก ๆ
และเยาวชนให้รู้จักแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง
เพื่อมิให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นกลายเป็นคนล้าหลัง
และก้าวตามโลกไม่ทันภายหลังจากออกจากโรงเรียนแล้ว การสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีเรียนที่ถูกต้อง (Learn
how to learn) จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง
โดยครูต้องเข้าใจและตระหนักเป็นอันดับแรกว่า
เด็กแต่ละคนมีลีลาหรือรูปแบบการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน
ครูที่สามารถรู้ว่าเด็กแต่ละคนในชั้นมีรูปแบบการเรียนรู้เป็นแบบใดจะประสบความสำเร็จในการส่งผ่านความรู้ไปยังนักเรียน
ทำให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างเต็มความสามารถมากที่สุด
นักจิตวิทยาที่ศึกษารูปแบบการเรียนรู้หรือลีลาการเรียนรู้ของมนุษย์
(Learning style) ได้พบว่า
มนุษย์สามารถรับข้อมูลโดยผ่านเส้นทางการรับรู้ 3
ทาง คือ
การรับรู้ทางสายตาโดยการมองเห็น (Visual percepters)
การรับรู้ทางโสตประสาทโดยการได้ยิน (Auditory
percepters) และ
การรับรู้ทางร่างกายโดยการเคลื่อนไหวและการรู้สึก (Kinesthetic
percepters) ซึ่งสามารถนำมาจัดเป็นลีลาการเรียนรู้ได้
3 ประเภทใหญ่ ๆ ผู้เรียนแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันคือ
1) ผู้ที่เรียนรู้ทางสายตา
(Visual learner) เป็นพวกที่เรียนรู้ได้ดีถ้าเรียนจากรูปภาพ แผนภูมิ
แผนผังหรือจากเนื้อหาที่เขียนเป็นเรื่องราว เวลาจะนึกถึงเหตุการณ์ใด
ก็จะนึกถึงภาพเหมือนกับเวลาที่ดูภาพยนตร์คือมองเห็นเป็นภาพที่สามารถเคลื่อนไหวบนจอฉายหนังได้
เนื่องจากระบบเก็บความจำได้จัดเก็บสิ่งที่เรียนรู้ไว้เป็นภาพ ลักษณะของคำพูดที่คนกลุ่มนี้ชอบใช้ เช่น “ฉันเห็น”
หรือ “ฉันเห็นเป็นภาพ…..”
พวก Visual learner จะเรียนได้ดีถ้าครูบรรยายเป็นเรื่องราว
และทำข้อสอบได้ดีถ้าครูออกข้อสอบในลักษณะที่ผูกเป็นเรื่องราว นักเรียนคนใดที่เป็นนักอ่าน เวลาอ่านเนื้อหาในตำราเรียนที่ผู้เขียนบรรยายในลักษณะของความรู้
ก็จะนำเรื่องที่อ่านมาผูกโยงเป็นเรื่องราวเพื่อทำให้ตนสามารถจดจำเนื้อหาได้ง่ายขึ้น เด็ก ๆ ที่เป็น Visual learner ถ้าได้เรียนเนื้อหาที่ครูนำมาเล่าเป็นเรื่อง
ๆ จะนั่งเงียบ สนใจเรียน
และสามารถเขียนผูกโยงเป็นเรื่องราวได้ดี
ผู้ที่เรียนได้ดีทางสายตาควรเลือกเรียนทางด้านสถาปัตยกรรม หรือด้านการออกแบบ และควรประกอบอาชีพมัณฑนากร วิศวกร
หรือหมอผ่าตัด
พวก Visual learner จะพบประมาณ 60-65 % ของประชากรทั้งหมด
2) ผู้ที่เรียนรู้ทางโสตประสาท
(Auditory Learner) เป็นพวกที่เรียนรู้ได้ดีที่สุดถ้าได้ฟังหรือได้พูด
จะไม่สนใจรูปภาพ ไม่สร้างภาพ
และไม่ผูกเรื่องราวในสมองเป็นภาพเหมือนพวกที่เรียนรู้ทางสายตา แต่ชอบฟังเรื่องราวซ้ำ ๆ และชอบเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง คุณลักษณะพิเศษของคนกลุ่มนี้ ได้แก่ การมีทักษะในการได้ยิน/ได้ฟังที่เหนือกว่าคนอื่น ดังนั้นจึงสามารถเล่าเรื่องต่าง ๆ
ได้อย่างละเอียดละออ และรู้จักเลือกใช้คำพูด
ผู้เรียนที่เป็น Auditory learner จะจดจำความรู้ได้ดีถ้าครูพูดให้ฟัง หากครูถามให้ตอบ ก็จะสามารถตอบได้ทันที แต่ถ้าครูมอบหมายให้ไปอ่านตำราล่วงหน้าจะจำไม่ได้จนกว่าจะได้ยินครูอธิบายให้ฟัง
เวลาท่องหนังสือก็ต้องอ่านออกเสียงดังๆ
ครูสามารถช่วยเหลือผู้เรียนกลุ่มนี้ได้โดยใช้วิธีสอนแบบอภิปราย แต่ผู้ที่เรียนทางโสตประสาทก็อาจถูกรบกวนจากเสียงอื่น
ๆ จนทำให้เกิดความวอกแวก เสียสมาธิในการฟังได้ง่ายเช่นกัน
ในด้านการคิด มักจะคิดเป็นคำพูด และชอบพูดว่า
“ฉันได้ยินมาว่า……../ ฉันได้ฟังมาเหมือนกับว่า……”
พวก Auditory learner จะพบประมาณ 30-35 % ของประชากรทั้งหมด
และมักพบในกลุ่มที่เรียนด้านดนตรี
กฎหมายหรือการเมือง
ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเป็นนักดนตรี
พิธีกรทางวิทยุและโทรทัศน์
นักจัดรายการเพลง (disc jockey)
นักจิตวิทยา
นักการเมือง เป็นต้น
3) ผู้ที่เรียนรู้ทางร่างกายและความรู้สึก
(Kinesthetic learner) เป็นพวกที่เรียนโดยผ่านการรับรู้ทางความรู้สึก
การเคลื่อนไหว และร่างกาย จึงสามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดีหากได้มีการสัมผัสและเกิดความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งที่เรียน เวลานั่งในห้องเรียนจะนั่งแบบอยู่ไม่สุข นั่งไม่ติดที่
ไม่สนใจบทเรียน
และไม่สามารถทำใจให้จดจ่ออยู่กับบทเรียนเป็นเวลานาน ๆ ได้ คือให้นั่งเพ่งมองกระดานตลอดเวลาแบบพวก Visual learner ไม่ได้ ครูสามารถสังเกตบุคลิกภาพของเด็กที่เป็น Kinesthetic
learner ได้จากคำพูดที่ว่า “ฉันรู้สึกว่า……”
พวกที่เป็น Kinesthetic learner จะไม่ค่อยมีโอกาสเป็นพวก Visual
learner จึงเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากหากครูผู้สอนให้ออกไปยืนเล่าเรื่องต่าง
ๆ หน้าชั้นเรียน
หรือให้รายงานความรู้ที่ต้องนำมาจัดเรียบเรียงใหม่อย่างเป็นระบบระเบียบ เพราะไม่สามารถจะทำได้ ครูที่ยังนิยมใช้วิธีสอนแบบเก่า ๆ อย่างเช่นใช้วิธีบรรยายตลอดชั่วโมง จะยิ่งทำให้เด็กเหล่านี้มีปัญหามากขึ้น
ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าความรู้สึกของเด็กเหล่านี้ได้ถูกนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะสิ่งที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น
ไม่ได้ผูกโยงกับอดีตหรือเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึงในอนาคต ครูจึงควรช่วยเหลือพวก Kinesthetic
learner ให้เรียนรู้ได้มากขึ้น โดยการให้แสดงออกหรือให้ปฏิบัติจริง เช่น ให้เล่นละคร แสดงบทบาทสมมติ สาธิต
ทำการทดลอง
หรือให้พูดประกอบการแสดงท่าทาง
เป็นต้น
พวก Kinesthetic learner จะพบในประชากรประมาณ 5-10 % เท่านั้น สาขาวิชาที่เหมาะกับผู้เรียนกลุ่มนี้ได้แก่
วิชาก่อสร้าง วิชาพลศึกษา และควรประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับงานก่อสร้างอาคาร หรืองานด้านกีฬา เช่น เป็นนักกีฬา หรือประเภทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่ต้องมีการเต้น การรำ
และการเคลื่อนไหว
การแบ่งลีลาการเรียนรู้ออกเป็น 3 ประเภทดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
เป็นการแบ่งโดยพิจารณาจากช่องทางในการรับรู้ข้อมูล ซึ่งมีอยู่ 3
ช่องทาง ได้แก่ ทางตา ทางหู และทางร่างกาย
แต่หากนำสภาวะของบุคคลในขณะที่รับรู้ข้อมูลซึ่งมีอยู่ 3
สภาวะคือ สภาวะของจิตสำนึก (Conscious)
จิตใต้สำนึก (Subconscious) และจิตไร้สำนึก (Unconscious) เข้าไปร่วมพิจารณาด้วย
แล้วนำองค์ประกอบทั้ง 2 ด้านคือ องค์ประกอบด้านช่องทางการรับข้อมูล (Perceptual
pathways) กับองค์ประกอบด้านสภาวะของบุคคลขณะที่รับรู้ข้อมูล
(States of consciousness) มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน จะสามารถแบ่งลีลาการเรียนรู้ออกได้ถึง 6
แบบ คือ
1) ประเภท V-A-K เป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ดีที่สุดหากได้อ่านและได้เล่าเรื่องต่าง
ๆ ให้ผู้อื่นฟัง
เป็นเด็กดีที่ขยันเรียนหนังสือ แต่ไม่ชอบเล่นกีฬา
2) ประเภท V-K-A เป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ดีที่สุดหากได้ลงมือปฏิบัติตามแบบอย่างที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า
และได้ตั้งคำถามถามไปเรื่อย ๆ
โดยปกติจะชอบทำงานเป็นกลุ่ม
3) ประเภท A-K-V เป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ดีที่สุดหากได้สอนคนอื่น ชอบขยายความเวลาเล่าเรื่อง แต่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียน
4) ประเภท A-V-K เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเจรจาติดต่อสื่อสารกับคนอื่น พูดได้ชัดถ้อยชัดคำ พูดจามีเหตุมีผล รักความจริง
ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาที่ต้องใช้ความคิดทุกประเภท
เวลาเรียนจะพยายามพูดเพื่อให้ตนเองเกิดความเข้าใจ ไม่ชอบเรียนกีฬา
5) ประเภท
K-V-A เป็นผู้ที่เรียนได้ดีที่สุดหากได้ทำงานที่ใช้ความคิดในสถานที่เงียบสงบ สามารถทำงานที่ต้องใช้กำลังกายได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องให้ครูคอยบอก หากฟังครูพูดมาก ๆ อาจเกิดความสับสนได้
6) ประเภท K-A-V เป็นผู้ที่เรียนได้ดีหากได้เคลื่อนไหวร่างกายไปด้วย เป็นพวกที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง จึงถูกให้ฉายาว่าเป็นเด็กอยู่ไม่สุข มักมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียน
ตัวอย่างเช่น
ผู้ที่เป็น Visual learner (V) ในสภาวะของจิตสำนึก เป็น Kinesthetic learner (K) ในสภาวะของจิตใต้สำนึก และเป็น Auditory learner (A) ในสภาวะของจิตไร้สำนึก จะมีลีลาการเรียนรู้เป็นประเภท V-K-A เวลเดน (Whelden) นักจิตบำบัดและผู้ให้คำปรึกษาในโรงเรียนกล่าวว่า
ส่วนใหญ่แล้วพวกเราทุกคนจะมีลีลาการเรียนรู้เฉพาะตัวเป็นแบบใดแบบหนึ่งใน
แบบนี้เสมอ
โดยลีลาการเรียนรู้เหล่านี้จะถูกกำหนดเป็นแบบแผนที่ตายตัวเมื่ออายุประมาณ 7
ขวบ
แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในเด็กบางคนซึ่งก็เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
การที่ครูได้รู้ว่าเด็กในชั้นเรียนมีลีลาการเรียนรู้เป็นแบบใด
จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดสภาพการเรียนการสอน และยังช่วยให้ครู :-
Ø สามารถช่วยเหลือเด็กให้รู้จักคิดและเรียนรู้สิ่งต่างๆ
ให้ดีที่สุดเท่าที่เด็กจะสามารถทำได้เข้าใจพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กที่ไม่เหมือนกัน
Ø เข้าใจปัญหาที่เกิดจากการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน
ตัวอย่างเช่น เด็กที่เป็น Auditory
learner จะมีปัญหาคือพูดมากที่สุดและมีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนมากที่สุด เพราะฉะนั้นข้อสอบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
(โดยเฉพาะข้อสอบอัตนัย) จึงเกิดปัญหามากที่สุดกับนักเรียนที่เป็น Auditory
learner กับ
Kinesthetic learner แต่จะไม่เป็นปัญหากับนักเรียนที่เป็น
Visual learner เนื่องจากนักเรียนกลุ่มหลังนี้สามารถเรียนรู้ได้ดีถ้าครูสอนแบบบรรยาย
และสามารถทำข้อสอบประเภทที่สอบวัดความจำได้ดีด้วย
การสำรวจลีลาการเรียนรู้
แม้ว่าการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน การสัมภาษณ์ผู้ปกครอง
หรือการศึกษาจากผลการเรียนรู้ในรายวิชาต่าง ๆ ของนักเรียน
จะเป็นวิธีการทั่วไปที่ครูสามารถนำมาใช้พิจารณาถึงลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้
แต่การใช้แบบสำรวจต่อไปนี้ก็อาจช่วยให้ครูค้นหาลีลาการเรียนรู้ได้อีกวิธีหนึ่ง
อ้างอิง http://portal.edu.chula.ac.th/girl/blog/view.php?Bid=1245038152800790
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น